วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ผ้าทอลายของลาวโซ่ง



เพชรบุรีวางตัวอยู่อย่างน่าสนใจจากกรุงเทพฯ…

ที่ว่าน่าสนใจนั่นคือ ระยะทางที่ไม่ใกล้ แต่ก็ไม่ไกลจนเกินไป แค่ชั่วเวลานั่งรถเพลินๆ ไม่เกินสองชั่วโมงก็น่าจะเข้าเขตเมืองเพชร โดยมีภาพของทุ่งนายามข้าวออกรวงสีเขียวละมุนตาและต้นตาลยืนต้นเรียงรายอยู่ปลายนา หรืออาจจะเห็นปลายจั่วแหลมๆ ของบ้านหลังคาทรงไทยหลายหลังโผล่พ้นทุ่งนาหรือรั้วบ้าน เป็นฉากทั้งหลายที่บ่งบอกว่า บัดนี้เข้าสู่ดินแดนแห่งน้ำตาลเมืองเพชรแล้ว

หลายวันก่อนเป็นอีกครั้งของความตั้งใจที่จะไปเยือนเพชรบุรีโดยที่ไม่ต้องมีจุดหมายปลายทางที่แน่นอน มีเพียงความตั้งใจบางอย่างเกี่ยวกับบางสิ่งที่อยากไปเห็นอยากไปสัมผัส

หนึ่งในปลายทางของสิ่งที่ตั้งใจในการเดินทางครั้งนี้ก็คือ การแวะเข้าไปดูหมู่บ้านไทยทรงดำหรือว่าลาวโซ่งที่อำเภอเขาย้อย อำเภอที่เป็นทางผ่านก่อนเข้าสู่ตัวเมืองเพชรที่ได้แต่เคยผ่านไปมาครั้งแล้วครั้งเล่าแต่กลับไม่เคยแวะจริงๆ จังๆ เลยสักที

อำเภอเขาย้อย ชื่อนี้เป็นชื่อเดียวกับภูเขาและถ้ำ ภาพของเขาสูงและถิ่นถ้ำจึงเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่บอกกับผู้สัญจรว่านี่คือเขตเมืองเพชร และหากใครที่ได้เคยผ่านไปมาคงเคยสังเกตว่าข้าวแกงเมืองเพชรที่ว่ามีชื่อไม่แพ้ขนมหวาน ก็มีให้ลิ้มลองเรียงรายอยู่สองข้างทางยามที่เรากำลังจะมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวจังหวัด

แต่การไปครั้งนี้ไม่ได้แวะร้านข้าวแกงหรือถ้ำเขาย้อยที่เนืองแน่นไปด้วยหมู่วานร (ลิงกัง) ที่ลงมาป้วนเปี้ยนรอรับนักท่องเที่ยวอยู่แถวปากถ้ำ แต่เราแวะเข้าไปลึกกว่านั้น เข้าไปในเขตหมู่บ้าน ผ่านทุ่งนาข้าวเขียวๆ เข้าไปตามทางสายเล็กๆ เพื่อเยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ตามคำบอกเล่าที่เคยได้ยินได้ฟังมาและตามข้อมูลที่พอจะหาได้ก่อนจะมาเพชรบุรี

ดินแดนไทยทรงดำของตำบลเขาย้อยในปัจจุบันแทบจะไม่มีสิ่งใดที่ผิดแผกออกไปจากบ้านเรือนและชุมชนของคนไทยเชื้อสายอื่นๆ ในปัจจุบัน นอกจากอาคารภายในศูนย์วัฒนธรรมที่มีรูปร่างคล้ายกระท่อม ที่มีเสายกพื้นสูง ขนาดและรูปทรงของหลังคาที่แตกต่างออกไปจากเรือนไทยในชนบท แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างอย่างเป็นเอกลักษณ์คือรูปร่างของจั่วที่คล้ายกับกาแลของเรือนทางภาคเหนือ แต่เป็นกาแลที่ไม้ไขว้กัน ส่วนปลายของแต่ละด้วยม้วนวนเข้าหากัน ซึ่งเพียงแค่รูปแบบของสถาปัตยกรรมนี้ที่ได้เห็นก็ทำให้เรามั่นใจในความมีเอกลักษณ์ของชาวลาวโซ่ง

ตามเอกสารที่มีไว้ให้หยิบอ่าน บ่งบอกประวัติของชาวไทยทรงดำ (ลาวโซ่ง) ไว้ว่า “ไทยทรงดำหรือลาวโซ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เมืองแถน แต่เดิมเป็นเมืองใหญ่ของแคว้นสิบสองจุไท ปัจจุบันคือเมืองเดียนเบียนฟู อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในแผ่นดินไทยนานกว่า 200 ปี อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี รัชกาลที่ รัชกาลที่ ตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วไปในเขตภาคกลาง เช่น สุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ที่อำเภอเขาย้อยมีประชากรมากกว่าร้อยละ 80 เป็นชาวไทยทรงดำ”
ประวัติที่หยิบยกมามิได้มุ่งเน้นสิ่งอื่นหรือความเป็นอื่นในเชื้อสายความเป็นไทยทรงดำที่มีจุดกำเนิดมาจากดินแดนหนึ่งในละแวกประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเวลานานปีที่ผู้คนกลุ่มนี้ฝังตัวอยู่ในสังคมไทยและกลายเป็นคนไทยอีกชุมชนหนึ่งในที่สุด สิ่งที่หลงเหลือตกค้างทางวัฒนธรรมและศิลปะของลาวโซ่งที่ได้พบเห็นในหมู่บ้าน ณ วันนี้ก็คือรูปแบบงานทางสถาปัตยกรรม (ของตัวเรือน) และผ้าทอลายอันมีเอกลักษณ์เฉพาะและโดดเด่นไม่แพ้กัน

เมื่อได้ทัศนาผ้าทอซึ่งเคยเป็นชุดแต่งกายประจำชนชาติลาวโซ่งทั้งแบบหญิงชาย (ชุดฮี สำหรับทั้งชายและหญิง ชุดฮ้างนมสำหรับผู้หญิง เสื้อสำหรับชายที่เรียกว่าเสื้อไท และเสื้อก้อมสำหรับผู้หญิง) อันเป็นลวดลายอันโดดเด่นด้วยสีแดง เหลือง เขียวหรือสีสดอื่นๆ บนผืนผ้าสีดำหรือสีน้ำเงินเข้มของตัวผ้าเป็นสีพื้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเสื้อหรือกางเกง (คำว่าไทยทรงดำเองมีที่มามาจากคำว่าไทย “ซ่วง” ดำหรือกางเกงสีดำ) ผมสัมผัสได้ถึงพลังอันยิ่งใหญ่อันเปล่งประกายออกมาจากลวดลายและสีสันของผ้าทอ โดยเฉพาะชุดเสื้อผ้าโบราณอายุนับร้อยๆ ปีและเครื่องใช้จำพวกที่นอนหมอนมุ้งที่มีแสดงเอาไว้บนตัวเรือนในศูนย์วัฒนธรรมฯ แห่งนี้



ด้วยลวดลายแบบเรขาคณิตง่ายๆ ของรูปสามเหลี่ยมหรือการเดินด้ายหรือวางผ้าเป็นเส้นตรงหรือสร้างจุดตัดกันไปมา กระทั่งการสร้างสรรค์ลายภายใต้ชื่อลายง่ายๆ เช่น ลายตานกแก้ว หรือการปักลายแสนสวยลงบน ‘ผ้าเปียว’ ก็เป็นงานผ้าทอที่มีทั้งความเรียบง่ายแต่น่าทึ่งในพลังสร้างสรรค์ของคนไทยกลุ่มนี้
แม้จะได้เห็นในช่วงเวลาแสนสั้นแต่ก็ผมก็เชื่อแน่ว่าคงไม่มีชาวลาวโซ่งคนไหนที่มีชีวิตอยู่ที่อำเภอเขาย้อยหรือที่อื่นๆ ในประเทศไทย ได้นำชุดเสื้อผ้า ผ้าปักและผ้าทอแสนสวยแบบที่ได้เห็นในศูนย์วัฒนธรรมฯ เอามาใช้เป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวันของพวกเขา ทั้งๆ ที่แบบเสื้อผ้าก็ไม่ได้ต่างไปจากชุดสวยหรูที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์รุ่นใหม่หรือรูปแบบเสื้อผ้ายุคใหม่เท่าใดนัก



การสืบต่อสืบสานและนำเสนอเรื่องราวของชีวิตไทยทรงดำให้หลงเหลือ ปรากฏ และมีพลังพอที่จะถ่ายทอดถึงความสร้างสรรค์ที่โดดเด่นให้กับผู้ที่ผ่านไปเยี่ยมชมได้ประจักษ์ ประทับใจ จนอยากที่จะเรียนรู้ให้ลึกซึ้งและเข้าถึงเรื่องราวความเป็นมาที่ก่อให้เกิดลวดลายและสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ได้ ยังคงเป็นเสมือนภาระที่หนักอึ้งสำหรับลูกหลานไทยทรงดำที่ครอบครองมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนี้ต่อไป และผมหวังว่า “ความธรรมดาและเรียบง่าย” ในเรื่องราวของผ้าทอลายชาวลาวโซ่งคงยั่งยืนอยู่ต่อไปและมีการมองเห็นคุณค่าหรือมีการศึกษากันอย่างลึกซึ้งขึ้นต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: