วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2551

วิวของช้าง







ผมไม่แน่ใจว่าจะวางคำว่า ‘ของ’ เอาไว้ตรงไหนดี ระหว่างคำว่าช้างกับวิว
ช้าง‘ของ’วิวหรือว่าวิว‘ของ’ช้างกันแน่...
แม้ไม่แน่ใจแต่ผมรู้ดีว่าวิวชอบช้าง (ที่ไม่แน่ใจคือช้างจะชอบวิวด้วยหรือไม่) และเขียนรูปช้างมานานแล้ว
ช้างที่เกิดจากปลายพู่กันและปลายนิ้วของวิวที่ถูกเกลี่ยกลบถมทับวาดเส้นและลากสีจนเกิดเป็นภาพและเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับช้างนั้น ถ้าหากว่ามีใครเคยนับช้างของวิวคงเป็นช้างแห่งสีสันโขลงใหญ่นับไม่ถ้วนเลยทีเดียว
วิวเขียนรูปช้างแค่ให้รู้หรือดูออกว่าเป็นช้าง แม้จะมีงวง มีหาง มีตา แต่รูปร่างก็อ้วนป้อม ซ้ำสีสันตัวช้างก็แตกต่างออกไปจากช้างที่เหมือนจริง ช้างของวิวจึงไม่เหมือนและไม่ใช่ช้างจริงๆ แค่หันข้าง ยืนนิ่งเฉย อาจจะชูงวง หมอบคลานซุกซ่อนตัวอยู่ใต้เงาไม้หรือยืนเล่นอยู่กับเพื่อนๆ สัตว์ตัวอื่นๆ
ช้างที่เห็น ใครๆ ดูก็รู้ว่าเป็นช้างของวิว เพราะรูปทรงที่มีเอกลักษณ์และสีสันอันสดใสแตกต่างไปของตัวช้าง คุณอาจจะไม่รู้ว่าเวลาช้างเป็นสีขาว สีฟ้าอ่อน สีชมพูสด แดงหรือม่วง มันให้อารมณ์น่ารักเพียงใด
วิววาดรูปช้างลงบนกระดาษเพื่อสเกตช์เป็นแนวทางก่อนเขียนลงบนเฟรมผ้าใบขนาดใหญ่แน่นหนา วันดีคืนดีก็นำโขลงช้างที่วาดเสร็จพร้อมกับเรื่องราวในรูปเขียนออกมาจัดแสดงนิทรรศการให้ได้ชมกัน
หลายปีก่อนช้างหาหัวใจวิวปลิวว่อนไปกับอิสรภาพและการล่องลอยในนิทรรศการเดี่ยวที่ชื่อ “ Fly with me” ที่โรทันดาแกลเลอรี่ ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (2549) จากนั้นไม่นานวิวก็ได้รับการเชิญชวนให้ไปแสดงงานในฐานะศิลปินไทยคนเดียวในงานแสดงศิลปวัฒนธรรมและอาหารไทย ที่เมืองอานซี่ ฝรั่งเศส ช้างพาวิวข้ามน้ำข้ามทะเลไปได้ไกลขนาดนั้น
ด้วยความเป็นคนหนุ่มไฟแรง มีวินัยในการทำงานสูง วิวทำงานศิลปะที่ตัวเองรักทุกๆ วัน วันละหลายชั่วโมงแต่ก็ไม่เคยโหมทำงานจนปล่อยปละละเลยความรับผิดชอบด้านอื่นๆ ของชีวิต เขาเพียงแต่เคี่ยวเข็ญตัวเองให้ทำงานที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จแต่ไม่เคยบีบเค้นให้งานออกมากระด้างไร้อารมณ์
กลับจากฝรั่งเศสมาพักใหญ่ วิวแบ่งเวลาจากการดูแลร้าน Things Called Art ของตัวเองที่เชียงใหม่ ดูแลบ้าน เล่นฟุตบอลกับมิตรสหาย ให้ข้าวปลาหมาแมวโขยงใหญ่ มาจัดนิทรรศการครั้งใหม่ที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง คราวนี้ในชื่องานว่า “เสียงของช้าง” (The Elephant Voice)
นิทรรศการครั้งนี้มีภาพเขียนเล็กใหญ่ต่างขนาดกันนับสิบชิ้น เป็นภาพเรื่องราวของช้างตามรูปแบบที่วิวถนัด (“ช้างอาจจะดูเป็นแบรนด์ของผมไปแล้ว” - วิวว่า) แต่มีนก วัว ควาย ดอกไม้ ต้นไม้มากกว่างานชุดที่แล้วๆ มา เหมือนช้างได้ก้าวนำพาวิวออกไปจากตัวตนของช้างเพื่อพบปะเรื่องราวและสิ่งต่างๆ ที่กว้างไกลและหลากหลายขึ้น
วิวเล่าว่าช้างที่ผมเขียนก็ยังดูเป็นช้างเหมือนเดิม แต่มีสัญลักษณ์ต่างๆ มากขึ้น เช่นในความจริงช้างตัวหนักบินไม่ได้ก็มีนกเข้ามาเป็นสัญลักษณ์ถึงความล่องลอยหรือสิ่งที่บินได้ นอกจากนี้ยังมีรูปช้างลอยอยู่บนกระทง แม้จะเป็นภาพเขียนกึ่งนามธรรม แต่ผู้ดูก็เดาหรือรับรู้เรื่องราวได้ไม่ยาก ผลงานที่นำมาจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ส่วนหนึ่งผ่านการพิสูจน์จากผู้ชมชาวฝรั่งเศสมาแล้วว่าสามารถเข้าถึงหรือชื่นชอบภาพเขียนแนวนี้ได้ง่ายๆ ไม่ต่างจากผู้ชมศิลปะชาวไทย (วิวบอกว่าภาพชื่อ Flying with midnight blue ขนาด 150 x 150 cm. เป็นที่ชื่นชอบของคนฝรั่งเศสมาก)
งานชุดนี้นอกจากจะมีรายละเอียดที่มากขึ้นแล้วยังมีโครงสีที่แข็งแรงขึ้นด้วย...เป็นเรื่องราวของช้างที่วิวมั่นอกมั่นใจมากขึ้น ขณะที่ทำงานชุดนี้วิวเล่าว่ามันทำให้จิตใจสงบ สัมผัสได้ถึงความเป็นธรรมชาติ
เป็นเสียงของช้างที่เปล่งออกมาผ่านลายเส้นและสีสันอย่างเงียบๆ แต่บอกเล่าความเป็นไปของวิวในฐานะที่เป็น “วิวของช้าง” ได้อีกมุมหนึ่ง

---------------

นิทรรศการศิลปะ “The Elephant Voice” โดยศุภเชษฐ์ ภุมกาญจน์ (วิว) แสดงอยู่ที่ศาลาปันมี Banana Family Park อารีย์ซอย 1 ตั้งแต่วันนี้จนถึง 8 เมษายน (10.00 – 19.00 น.) โทร. 02- 279 7838

วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ไปทำไม

ผมหยิบยืมคำว่า “ไปทำไม” ขึ้นมาเป็นชื่อเรื่องของข้อเขียนนี้จากชื่อสำนักพิมพ์ของรุ่นพี่ท่านหนึ่ง ซึ่งพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับภาพถ่ายการเดินทางและโปสการ์ดราคาประหยัดเพียงสามใบสิบบาท และเขาเรียกขานสำนักพิมพ์ตัวเองในเชิงสัพยอกว่า ‘สำนักพิมพ์ไปทำไม’...แม้จะฟังดูคล้ายกับว่าเจตนาจะกวนๆ แต่ก็เข้าท่าดีเหมือนกัน
คำว่า “ไปทำไม” แม้จะดูคล้ายกับการตั้งคำถามโดยตรง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนการปุชฉาโดยมีโทนของน้ำเสียงฟังเหมือนกับการบ่นพึมพำกับตัวเองหรือการพ่นความไม่ได้ดังใจหรือความไม่เข้าใจของคนที่บังเอิญไปประสบพบเห็นพฤติกรรมของ “การไป” (ที่ไหนสักที่ ของคนสักคนหรือสักกลุ่มหนึ่ง)
ไม่ใช่ความบังเอิญที่ทำให้ไปประสบพบเห็นการเดินทางของคนไทยกลุ่มหนึ่งเพื่อท้าทายความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์ ( 8,848 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง – เป็นระดับความสูงจากเว็บไซต์ Wikipedia.org บางแหล่งอ้างว่ายอดเขาแห่งนี้สูง 8,850 เมตรฯ) ซึ่งเป็นยอดเขาสูงที่สุดในโลก งานนี้สถานีโทรทัศน์TITV ได้นำชาวไทยกลุ่มหนึ่ง (ถ้าจำไม่ผิดจากการรายงานข่าวหรือสกู๊ปพิเศษที่เคยได้รับฟังมีทั้งหมด 9 คน) เดินทางไปเก็บตัว ฝึกฝนการป่ายปีนและการใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยในการปีนเขา ฝึกฝนการปีนเขาเอเวอเรสต์กับชายชาวเชอร์ปาซึ่งเป็นทั้งไกด์ ครูฝึกและคนนำทางท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นชาวเนปาล ชาวเชอร์ปาที่มีชื่อเสียงในระดับโลกถึงความชำนาญและความเชี่ยวชาญการปีนเขาสูง (โดยเฉพาะยอดเอเวอเรสต์ที่อยู่ในประเทศเนปาล) มาเนิ่นนานแล้ว นับตั้งแต่สมัยที่เอ็ดมันด์ ฮิลลารี พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ในวันที่ 29 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1953 การเดินทางขึ้นสู่จุดสูงสุดของโลกของชาวชาวนิวซีแลนด์คนนี้จะเป็นไปไม่ได้เลยหากปราศจากความช่วยเหลือของเพื่อนร่วมทางชาวเชอร์ปาที่ชื่อว่า เทนซิง นอร์เกย์
หลังจากวันแห่งความสำเร็จของคนทั้งคู่ กว่า 50 ปีต่อมาได้มีผู้คนจาก 63 ประเทศ 1200 คนได้สรรหาเส้นทางขึ้นสู่ปลายยอดเขาที่สูงที่สุดแห่งนี้ (ซึ่งมีเส้นทางขึ้นสู่ Summit หรือปลายยอดทั้งหมด 15 เส้นทาง) จนสำเร็จและได้รับการจดจารเอาไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้พิชิตยอดเขาแห่งนี้
“ปฏิบัติการเกียรติยศ สู่ยอดเอเวอเรสต์” ของคนไทยโดย TITV และผู้ให้การสนับสนุน (ซึ่งส่วนมากเป็นห้างร้านบริษัทใหญ่ๆ) เชื่อแน่ว่าคงไม่มีเหตุผลใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่จะนำภาพและชื่อของคนไทยเข้าไปต่อแถวในขบวนการของผู้ขึ้นไปย่ำยอดเขาเอเวอเรสต์ ภาพของการนำธงไตรรงค์ของไทยไปปักบนความสูงกว่าแปดพันเมตรบนยอดเขาน่าจะนำมาซึ่งน้ำตาแห่งความปลื้มปิติของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ที่ให้ความสนใจในปฏิบัติการครั้งนี้
ข่าวคราวของความพยายามทุกวิถีทาง (โดยมีสปอนเซอร์สนับสนุนและมีชาวเชอร์ปา ซึ่งเป็นญาติของเทนซิง นอร์เกย์ ชาวเชอร์ปาคนแรกในประวัติศาสตร์ผู้พิชิตเอเวอเรสต์) ในการที่จะขึ้นสู่ยอดซัมมิทได้ถูกนำเสนอผ่านช่วงรายการทั้งช่วงข่าวและรายการบันเทิงปกิณกะอื่นๆ ของสถานี TITV อยู่ทุกวี่วัน ด้วยเหตุนี้มันจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของความสนใจของคนไทยโดยเฉพาะคนไทยที่สนใจเรื่องราวของการเดินทาง การเอาชนะเรคคอร์ทหรือปูมบันทึกต่างๆ ที่มีคนจากหลากหลายเชื้อชาติได้เข้าไปฝากชื่อเอาไว้ ไม่รวมถึงคนไทยในภาพรวมที่ถูกเอาเข้าไปเกี่ยวโยงกับปฏิบัติการครั้งนี้โดยการใช้ถ้อยคำในทำนองว่าเป็นปฏิบัติการเพื่อเกียรติยศของคนไทย
ความเป็น ความตาย ความทุกข์ ความสุขของคนไทยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในปฏิบัติการครั้งนี้จึงถูกนำเสนอประหนึ่งเป็นปฏิบัติการแห่งความเสียสละหรือปฏิบัติการอันศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นการทำเพื่อชาติ มีการนำเสนอเรื่องราวและภาพประหนึ่งผู้ที่ได้เข้าไปเป็นคนไทยหนึ่งในเก้าเปรียบเหมือนวีรบุรุษหรือวีรสตรี โดยหลงลืมหรือมองข้ามไม่ลงลึกซอกหลืบทางความคิดในแง่ที่เป็นปัจเจกของบุคคลเหล่านี้แต่ละคนว่าไปทำไม ทำไปเพื่ออะไร ยอมเสี่ยงต่ออาการแพ้ความสูง หิมะกัดจนพิการหรืออุบัติเหตุร้ายแรงจากหิมะถล่มหรือสภาพอากาศแปรปรวนไปเพื่ออะไร...
หากเราลองทำใจให้กว้างและเข้าใจปรากฏการณ์แห่งการเดินทางครั้งนี้ว่ามิใช่การเอาอย่างฝรั่ง หรือความคลั่งไคล้ในการทำลายสถิติหรือความพยายามในการยัดเยียดชื่อคนไทยเข้าไปต่อแถวในหางว่าวของรายชื่อผู้ที่ทำสำเร็จมาก่อนหน้านั้นในเรคคอร์ท เราย่อมเข้าใจได้ว่าคนไทยไม่ว่าใครก็ตาม หรือจะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตามมีสิทธิ์ที่จะทำอะไรพรรค์นี้ได้เหมือนๆ กับชาวโลกจากประเทศชาติอื่นๆ
การเดินเท้าและป่ายปีนน้ำแข็งอันหนาวเย็น เสี่ยงภัยในสภาพอากาศปกติของยอดเขาสูงๆ อย่างเอเวอเรสต์นั้นอุดมไปด้วยความเสี่ยงสารพัด และหากใครก็ตามที่มุ่งหวังว่าจะไปขึ้นสู่ยอดเอเวอเรสต์ย่อมพานพบกับสายตาและน้ำเสียงอันไม่เข้าใจว่า “จะไปกันทำไม” เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของผู้ล้มเหลวพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการเยี่ยงนี้ไปแล้วเกือบสองร้อยชีวิตดังเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่นักเดินเขาสู่เอเวอเรสต์ต้องสังเวยชีวิตไปกับพายุที่ซัดเข้ามาอย่างฉับพลันในวันที่ 10 พฤษภาคมปี 1996 ซึ่งนักเขียนสารคดีชาวอเมริกันที่เป็นส่วนหนึ่งในโศกนาฏกรรมครั้งนั้นได้เขียนบันทึกออกมาในหนังสือชื่อ Into Thin Air
ผมไม่ได้จ้องมองปฏิบัติการครั้งนี้ในแบบฉงนสนใจ ลุ้นระทึกหรือด้วยความทึ่ง หรือแม้แต่รู้สึกว่าตัวเองจะอิจฉาตาร้อนที่คนไทยได้เข้าไปร่วมในขบวนการย่ำยอดเขาเอเวอเรสต์ ผมเพียงแต่นึกถึงมุมที่หลากหลายของเรื่องราวและพบว่าคำตอบของเรื่องราวที่แท้จริงน่าจะมีมากกว่าการที่ (คนไทย) ใครคนใดคนหนึ่งจะยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายและการเอาชนะตัวเองเพื่อแลกกับความสูงสุดที่รอคอยมานานหลายล้านปีบนยอดเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งเนปาลยอดนี้มิเช่นนั้นแล้วปฏิบัติการ ‘เกียรติยศ’ เยี่ยงนี้ก็อาจจะพบกับคำเย้ยหยันง่ายๆ ว่า “ไปทำไม” ก็เท่านั้น
(ภาพประกอบทั้งหมดจากเว็บไซต์ที่มีข้อมูลดีๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับยอดเขาเอเวอเรสต์ www.nationalgeographic.com/everest/)

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550


หัดเกรงใจ(โลก)เสียบ้างเถอะ

การปรากฏตัวอยู่มาบนโลกนี้มาถึงสามสิบเจ็ดปีเป็นเรื่องมหัศจรรย์...

ไม่ใช่ความรู้สึกมหัศจรรย์ที่คนเราสักคนหนึ่งจะมีชีวิตอยู่รอดจากโรคภัยไข้เจ็บ หลุดรอดจากบ่วงกรรมของอุบัติเหตุหรือสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง จนมีลมหายใจและอวัยวะอยู่ครบสามสิบสอง...ในแง่นั้น

หากแต่คือความรู้สึกที่มีต่อโลก - สถานที่รองรับชีวิตของเราซึ่งได้หล่อเลี้ยง อุ้มชู ดูแล แบ่งกินแบ่งใช้หรือหาเลี้ยงคนเราให้เติบโตแก่กล้าขึ้นมา

เมื่อมองย้อนกลับไปในรอบหลายสิบปีที่วันเวลาของชีวิตวกวนกลับมาหาจุดเริ่มต้นในละช่วงปีของการเกิดขึ้นของคนเรา อาจจะไม่เคยมีใครคิดหรือตระหนักว่าเรากินอยู่ เบียดบัง แบ่งใช้ เนื้อที่และข้าวของของโลกนี้ไปมากมายเพียงใดแล้วและเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งอันที่เราได้สรรค์สร้างหรือแบ่งปันคืนกลับให้กับโลกแล้ว สิ่งใดที่เป็นสัดส่วนมากน้อยไปกว่ากัน

นอกจากความรู้สึกอัศจรรย์ใจที่บังเกิดขึ้นต่อการที่โลกใบนี้มีแต่ให้กับให้ ให้กับตัวเราให้กับมนุษย์โลกคนอื่นๆ ให้กับสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตที่อยู่ร่วมโลกใบเดียวกันกับเรา ณ ช่วงเวลาเดียวกันกับเราโดยไม่มีเงื่อนไข ก็อาจจะทำให้เรามองเห็นศักยภาพที่ยิ่งใหญ่แต่ไม่อวดตัวหรือถือตัวของโลกที่แบกรับความเป็นไปของทุกชีวิตมาแล้วอย่างยาวนาน

จะใช้ชีวิตวันนี้อย่างไร จะมีชีวิตต่อไปแบบไหน ก็ควรจะถึงเวลาแล้วที่เราควรจะ 'หัดเกรงใจโลก' กันเสียบ้างเถอะ!

วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ผ้าทอลายของลาวโซ่ง



เพชรบุรีวางตัวอยู่อย่างน่าสนใจจากกรุงเทพฯ…

ที่ว่าน่าสนใจนั่นคือ ระยะทางที่ไม่ใกล้ แต่ก็ไม่ไกลจนเกินไป แค่ชั่วเวลานั่งรถเพลินๆ ไม่เกินสองชั่วโมงก็น่าจะเข้าเขตเมืองเพชร โดยมีภาพของทุ่งนายามข้าวออกรวงสีเขียวละมุนตาและต้นตาลยืนต้นเรียงรายอยู่ปลายนา หรืออาจจะเห็นปลายจั่วแหลมๆ ของบ้านหลังคาทรงไทยหลายหลังโผล่พ้นทุ่งนาหรือรั้วบ้าน เป็นฉากทั้งหลายที่บ่งบอกว่า บัดนี้เข้าสู่ดินแดนแห่งน้ำตาลเมืองเพชรแล้ว

หลายวันก่อนเป็นอีกครั้งของความตั้งใจที่จะไปเยือนเพชรบุรีโดยที่ไม่ต้องมีจุดหมายปลายทางที่แน่นอน มีเพียงความตั้งใจบางอย่างเกี่ยวกับบางสิ่งที่อยากไปเห็นอยากไปสัมผัส

หนึ่งในปลายทางของสิ่งที่ตั้งใจในการเดินทางครั้งนี้ก็คือ การแวะเข้าไปดูหมู่บ้านไทยทรงดำหรือว่าลาวโซ่งที่อำเภอเขาย้อย อำเภอที่เป็นทางผ่านก่อนเข้าสู่ตัวเมืองเพชรที่ได้แต่เคยผ่านไปมาครั้งแล้วครั้งเล่าแต่กลับไม่เคยแวะจริงๆ จังๆ เลยสักที

อำเภอเขาย้อย ชื่อนี้เป็นชื่อเดียวกับภูเขาและถ้ำ ภาพของเขาสูงและถิ่นถ้ำจึงเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่บอกกับผู้สัญจรว่านี่คือเขตเมืองเพชร และหากใครที่ได้เคยผ่านไปมาคงเคยสังเกตว่าข้าวแกงเมืองเพชรที่ว่ามีชื่อไม่แพ้ขนมหวาน ก็มีให้ลิ้มลองเรียงรายอยู่สองข้างทางยามที่เรากำลังจะมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวจังหวัด

แต่การไปครั้งนี้ไม่ได้แวะร้านข้าวแกงหรือถ้ำเขาย้อยที่เนืองแน่นไปด้วยหมู่วานร (ลิงกัง) ที่ลงมาป้วนเปี้ยนรอรับนักท่องเที่ยวอยู่แถวปากถ้ำ แต่เราแวะเข้าไปลึกกว่านั้น เข้าไปในเขตหมู่บ้าน ผ่านทุ่งนาข้าวเขียวๆ เข้าไปตามทางสายเล็กๆ เพื่อเยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ตามคำบอกเล่าที่เคยได้ยินได้ฟังมาและตามข้อมูลที่พอจะหาได้ก่อนจะมาเพชรบุรี

ดินแดนไทยทรงดำของตำบลเขาย้อยในปัจจุบันแทบจะไม่มีสิ่งใดที่ผิดแผกออกไปจากบ้านเรือนและชุมชนของคนไทยเชื้อสายอื่นๆ ในปัจจุบัน นอกจากอาคารภายในศูนย์วัฒนธรรมที่มีรูปร่างคล้ายกระท่อม ที่มีเสายกพื้นสูง ขนาดและรูปทรงของหลังคาที่แตกต่างออกไปจากเรือนไทยในชนบท แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างอย่างเป็นเอกลักษณ์คือรูปร่างของจั่วที่คล้ายกับกาแลของเรือนทางภาคเหนือ แต่เป็นกาแลที่ไม้ไขว้กัน ส่วนปลายของแต่ละด้วยม้วนวนเข้าหากัน ซึ่งเพียงแค่รูปแบบของสถาปัตยกรรมนี้ที่ได้เห็นก็ทำให้เรามั่นใจในความมีเอกลักษณ์ของชาวลาวโซ่ง

ตามเอกสารที่มีไว้ให้หยิบอ่าน บ่งบอกประวัติของชาวไทยทรงดำ (ลาวโซ่ง) ไว้ว่า “ไทยทรงดำหรือลาวโซ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เมืองแถน แต่เดิมเป็นเมืองใหญ่ของแคว้นสิบสองจุไท ปัจจุบันคือเมืองเดียนเบียนฟู อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในแผ่นดินไทยนานกว่า 200 ปี อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี รัชกาลที่ รัชกาลที่ ตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วไปในเขตภาคกลาง เช่น สุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ที่อำเภอเขาย้อยมีประชากรมากกว่าร้อยละ 80 เป็นชาวไทยทรงดำ”
ประวัติที่หยิบยกมามิได้มุ่งเน้นสิ่งอื่นหรือความเป็นอื่นในเชื้อสายความเป็นไทยทรงดำที่มีจุดกำเนิดมาจากดินแดนหนึ่งในละแวกประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเวลานานปีที่ผู้คนกลุ่มนี้ฝังตัวอยู่ในสังคมไทยและกลายเป็นคนไทยอีกชุมชนหนึ่งในที่สุด สิ่งที่หลงเหลือตกค้างทางวัฒนธรรมและศิลปะของลาวโซ่งที่ได้พบเห็นในหมู่บ้าน ณ วันนี้ก็คือรูปแบบงานทางสถาปัตยกรรม (ของตัวเรือน) และผ้าทอลายอันมีเอกลักษณ์เฉพาะและโดดเด่นไม่แพ้กัน

เมื่อได้ทัศนาผ้าทอซึ่งเคยเป็นชุดแต่งกายประจำชนชาติลาวโซ่งทั้งแบบหญิงชาย (ชุดฮี สำหรับทั้งชายและหญิง ชุดฮ้างนมสำหรับผู้หญิง เสื้อสำหรับชายที่เรียกว่าเสื้อไท และเสื้อก้อมสำหรับผู้หญิง) อันเป็นลวดลายอันโดดเด่นด้วยสีแดง เหลือง เขียวหรือสีสดอื่นๆ บนผืนผ้าสีดำหรือสีน้ำเงินเข้มของตัวผ้าเป็นสีพื้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเสื้อหรือกางเกง (คำว่าไทยทรงดำเองมีที่มามาจากคำว่าไทย “ซ่วง” ดำหรือกางเกงสีดำ) ผมสัมผัสได้ถึงพลังอันยิ่งใหญ่อันเปล่งประกายออกมาจากลวดลายและสีสันของผ้าทอ โดยเฉพาะชุดเสื้อผ้าโบราณอายุนับร้อยๆ ปีและเครื่องใช้จำพวกที่นอนหมอนมุ้งที่มีแสดงเอาไว้บนตัวเรือนในศูนย์วัฒนธรรมฯ แห่งนี้



ด้วยลวดลายแบบเรขาคณิตง่ายๆ ของรูปสามเหลี่ยมหรือการเดินด้ายหรือวางผ้าเป็นเส้นตรงหรือสร้างจุดตัดกันไปมา กระทั่งการสร้างสรรค์ลายภายใต้ชื่อลายง่ายๆ เช่น ลายตานกแก้ว หรือการปักลายแสนสวยลงบน ‘ผ้าเปียว’ ก็เป็นงานผ้าทอที่มีทั้งความเรียบง่ายแต่น่าทึ่งในพลังสร้างสรรค์ของคนไทยกลุ่มนี้
แม้จะได้เห็นในช่วงเวลาแสนสั้นแต่ก็ผมก็เชื่อแน่ว่าคงไม่มีชาวลาวโซ่งคนไหนที่มีชีวิตอยู่ที่อำเภอเขาย้อยหรือที่อื่นๆ ในประเทศไทย ได้นำชุดเสื้อผ้า ผ้าปักและผ้าทอแสนสวยแบบที่ได้เห็นในศูนย์วัฒนธรรมฯ เอามาใช้เป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวันของพวกเขา ทั้งๆ ที่แบบเสื้อผ้าก็ไม่ได้ต่างไปจากชุดสวยหรูที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์รุ่นใหม่หรือรูปแบบเสื้อผ้ายุคใหม่เท่าใดนัก



การสืบต่อสืบสานและนำเสนอเรื่องราวของชีวิตไทยทรงดำให้หลงเหลือ ปรากฏ และมีพลังพอที่จะถ่ายทอดถึงความสร้างสรรค์ที่โดดเด่นให้กับผู้ที่ผ่านไปเยี่ยมชมได้ประจักษ์ ประทับใจ จนอยากที่จะเรียนรู้ให้ลึกซึ้งและเข้าถึงเรื่องราวความเป็นมาที่ก่อให้เกิดลวดลายและสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ได้ ยังคงเป็นเสมือนภาระที่หนักอึ้งสำหรับลูกหลานไทยทรงดำที่ครอบครองมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนี้ต่อไป และผมหวังว่า “ความธรรมดาและเรียบง่าย” ในเรื่องราวของผ้าทอลายชาวลาวโซ่งคงยั่งยืนอยู่ต่อไปและมีการมองเห็นคุณค่าหรือมีการศึกษากันอย่างลึกซึ้งขึ้นต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

สายฝนหอบลมหนาวเอามาส่ง

รอยต่อของฤดูกาลเช่นตอนนี้ มีคำเรียกขานมากมาย เช่น คำว่า "ปลายฝนต้นหนาว" "ฝนส่งท้ายปี" และวันนี้เพิ่งจะได้ยินคำพูดว่า "ฝนมันหอบเอาลมหนาวมาส่งให้" ซึ่งเป็นคำพูดของผู้ชายธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่ไม่ได้ตั้งใจจะพูดให้โรแมนติกหรือประดิษฐ์ถ้อยคำขึ้นมา เพราะชายผู้นี้เป็นเพียงคนที่เฝ้ายามคอยโบกรถเข้าออกอาคารแห่งหนึ่งและผู้ที่ได้ยินแล้วนำมาเล่าก็เรียกขานเขาว่าลุง มีการทักทายพูดคุยกันจนคุ้นเคย

กระทั่งเมื่อเช้านี้ที่พอทักทายลุงไปว่าสบายดีไหม เป็นอย่างไรบ้าง... เมื่อวานฝนตก... อากาศเย็นลงนะ... ลุงก็ตอบกลับมาว่า ใช่สิครับเพราะว่าฝนมันหอบเอาลมหนาวมาส่งให้...

แม้จะเป็นคำพูดง่ายๆ และอาจจะมาจากสามัญสำนึกของชาวบ้านที่มองเห็นและเข้าใจเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงของรอยต่อแห่งฤดูกาลอยู่แล้ว แต่เราก็อดคิดไม่ได้ถึงความจริงแนงดงามที่ฤดูกาลหนึ่งมีสายสัมพันธ์สืบเนื่องถึงกันต่อฤดูกาลที่กำลังจะมาถึง

ยินดีต้อนรับลมหนาว...ถ้าหากจะมีเผื่อแผ่มาถึงกลางใจเมืองกรุงได้จริงๆ

วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2550

วันที่หิมะตก...เป็นหยดฝน

คุณคิดว่ายังไงถ้าหากว่าจะมีหิมะตกลงมาในกรุงเทพฯ ในต้นฤดูหนาวเช่นนี้

ใช่เพียงความประจวบเหมาะของห้วงเวลา ที่นับได้ว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ขอบเขตของเหมันตกาลแล้ว เพราะในช่วงหลายวันที่ผ่านมา คนที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ คงได้สัมผัสสายลมเย็นๆ กันบ้าง ความเย็นสำหรับคนเมืองกรุงย่อมเป็นสิ่งที่โปรดปรานมากกว่าความร้อนอันคุ้นเคย และหากเราไม่ปฏิเสธความจริงจนเกินไปอาจจะมีบางคนที่คิดเช่นเดียวกันกับฉันว่าความหม่นครึ้มและออกไปทางหนาวเย็นของวันนี้ น่าจะถึงพร้อมให้มีหิมะตกลงมากลางกรุงเทพฯ เสียจริงๆ

ฉันไม่เคยเห็นหิมะร่วงหล่นลงมากับตา เมื่อนานปีมาแล้วเคยไปหนาวสั่นงันงกกลางกรุงอัมสเตอร์ดัมของฮอลแลนด์ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ขณะนั้นแม้จะอยู่ในซีกโลกเหนือและอากาศเย็นจัด แต่ก็ยังไม่มีหิมะโปรยลงมา...หรือถ้าหากจะพูดให้ถูกก็คือฤดูกาลที่หิมะตกของที่นั่นอาจจะล่วงเลยไปแล้ว และก็เช่นกันที่เคยไปผจญอากาศเย็นชื้นและมีหมอกหม่นของกรุงลอนดอนในปลายฤดูหนาว...ซึ่งครั้งนั้นก็ได้สัมผัสแต่ความเย็นเยียบแบบเปียกชื้นของเมืองผู้ดี

มาวันนี้ วันที่ความอบอุ่นและอบอ้าวอันคุ้นเคยของกรุงเทพฯ ขอลาพักร้อน และท้องฟ้าก็หยิบยืมมุกแบบท้องฟ้าเมืองลอนดอนมาสร้างบรรยากาศของความหม่นๆ ขมุกขมัว ซ้ำอากาศก็เย็นลงแบบแตกต่างออกไป หลายคนคงอดไม่ได้ที่จะจินตนาการนึกถึงหิมะปุยขาวๆ ที่อาจจะหลุดร่วงร่อนลงมาที่ปลายหางตาของเรา ยามเผลอไผลไม่ทันมองอากาศที่เป็นอยู่ข้างนอกอย่างแท้จริง

แล้วก็จริงๆ นั่นแหละ วันนี้ที่กรุงเทพฯ ก็มีหิมะตกลงมาเสียด้วย แต่เป็นหิมะที่ตกลงมาเป็นหยดฝนบางเบาๆ